แชร์

HIGHLIGHT

  • เมื่อร่างกายเสื่อมถอย อารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจของผู้สูงวัยจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการสื่อสารกับผู้สูงวัยจึงต้องเริ่มจาก “การทำความเข้าใจ” 
  • ใช้คำพูดเรียบง่ายและแสดงออกอย่างใจเย็น จะทำให้ผู้สูงวัยให้ความร่วมมือดีขึ้น
  • ระวังเรื่องการใช้คำพูด และบางประโยคไม่ควรพูด เพราะจะสร้างผลกระทบทางใจให้ผู้สูงวัย
  • สร้างบรรยากาศในบ้านให้มีความสุข สร้างเวลาคุณภาพรวมกันผ่านมื้ออาหาร เพื่อเติมความมั่นใจและภูมิใจให้ผู้สูงวัย

“คุณปู่คะ ลดของทอดหน่อยไหม” คำพูดแห่งความห่วงใยของลูกหลานที่หากผู้สูงวัยมีความเข้าใจ เรื่องราวก็จะจบลงอย่าง Happy Ending ในทางตรงข้าม หากผู้สูงวัยไม่เข้าใจและรู้สึกต่อต้าน สิ่งที่ตามมาอาจเป็นการผิดใจกัน จนก่อเกิดการทะเลาะกันในที่สุด

เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ ลูกหลานอย่างเราจึงต้องมีกลเม็ดรับมือในการสื่อสารกับผู้สูงวัยให้เวิร์ก เพื่อป้องกันปัญหาผิดใจกัน

4 เทคนิคการคุยกับผู้สูงอายุ ให้การสื่อสารกับผู้สูงวัยเป็นเรื่องง่าย

1. สวมใจผู้สูงวัย ให้เข้าใจเขามากขึ้น

เมื่อร่างกายเสื่อมถอย อารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจของผู้สูงวัยจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการสื่อสารกับผู้สูงวัยจึงต้องเริ่มจาก “การทำความเข้าใจ” ลองนึกถึงตัวเองในวันที่ป่วย แต่ยังอยากรับประทานไอศกรีม อารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงวัยก็เป็นเช่นเดียวกัน ที่แม้จะรู้ว่าอาหารชนิดนี้ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือกิจกรรมนี้ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิมแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะขอลองสักหน่อย ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจในจุดนี้ ลูกหลานก็จะรับมือกับอารมณ์และจิตใจของผู้สูงวัยได้ถูกต้องและถูกใจทั้งกับผู้สูงวัยและตัวเราเอง

แต่ทั้งนี้ให้ระวังเรื่องการแสดงออก โดยไม่มองผู้สูงวัยเป็นเด็ก จนแสดงพฤติกรรมเอาใจเขาเหมือนเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีความสามารถในการทำอะไรเอง เพราะลึก ๆ แล้ว ผู้สูงวัยต่างก็ทราบดีว่าสภาพร่างกายของเขาไม่เหมือนเดิม จึงทำให้เขาเกิดอาการหงุดหงิด สภาพจิตใจไม่มั่นใจ อ่อนไหวง่ายอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราแสดงออกว่าเขาไม่มีความสามารถเหมือนเดิมจะไปบั่นทอนสภาพจิตใจของเขาให้แย่ลง

2. ใช้ความเรียบง่าย ช่วยสร้างความเข้าใจ

“ความเรียบง่าย” คือหลักสำคัญในการสื่อสารกับผู้สูงวัย ทั้งการใช้คำพูดที่เรียบง่าย การแสดงออกอย่างใจเย็น ควบคุมอาการหงุดหงิดหรือไม่พอใจ จะทำให้ผู้สูงวัยให้ความร่วมมือดีขึ้นและเข้าใจถึงความห่วงใยของลูกหลานได้ดีกว่า ที่สำคัญอย่าเพิ่งเบื่อหรือหงุดหงิดที่จะพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ กับผู้สูงวัย แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากการกระตุ้นให้ผู้สูงวัยเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อาจใช้ ‘ภาษากาย’ อย่างการจับมือผู้สูงวัยเวลาที่ต้องพูดเตือน หรือขยับตัวเข้าไปพูดคุยใกล้ ๆ ในการแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่เรามีต่อเขา

เมื่อเราทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารที่ดีแล้ว ต้องสวมบทเป็นผู้รับสารที่ดีด้วย การตั้งใจฟังและการสังเกตท่าทางที่ผู้สูงวัยแสดงออกจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น แต่ทั้งนี้ให้ฟังอย่างจริงใจ อย่าพยายามแสดงว่าคุณเข้าใจสิ่งที่เขาพูด ทั้งที่ไม่เข้าใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงการรวบรัดตัดความขณะที่ผู้สูงวัยกำลังพูด หรือแสดงท่าทีเหมือนรำคาญ เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยเกิดความไม่มั่นใจและไม่อยากพูดหรือสื่อสารกับเราอีก

3. คำพูดที่ต้องระวัง ถ้าเผลอพูดไป อาจสร้างความปวดใจให้ผู้สูงวัย

“บอกตั้งหลายครั้งแล้ว ทำไมจำไม่ได้ซะที”

“ขี้เกียจพูดแล้ว พูดไปก็ไม่เข้าใจหรอก”

 “ของง่าย ๆ แค่นี้ ทำไมทำไม่ได้”

“ตอนนี้ยุ่ง ไม่มีเวลา ไว้ค่อยคุยวันหลังละกัน”

“พ่อแม่คนอื่นไม่เห็นเป็นแบบนี้”

ประโยคเรียบง่ายเหล่านี้ที่คุณอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่หากเผลอพูดออกไปสามารถสร้างความปวดใจให้ผู้สูงวัยได้เสมอ เพราะประโยคเหล่านี้เป็นเหมือนประโยคคำสั่ง เสียดสี เปรียบเทียบ และแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกของลูกหลานว่า เริ่มหงุดหงิดและไม่พอใจผู้สูงวัย ทั้งที่ใจความสำคัญอาจเป็นความเป็นห่วงใยที่มีต่อผู้สูงวัย ที่ไม่สามารถสื่อสารไปยังผู้สูงวัยได้เพราะเลือกใช้คำพูดที่สร้างความสะเทือนใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้สูงวัยได้เป็นอย่างมาก และยังส่งผลให้ผู้สูงวัยไม่อยากพูดกับเราอีกต่อไป เพราะฉะนั้นเราควรเลือกใช้คำพูดที่เน้นการแสดงความห่วงใยและอ่อนโยน และสื่อสารอย่างสั้น ๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าใจความหมายได้ทันที

4. สร้างสิ่งแวดล้อมให้เขารับรู้ถึงความห่วงใยของเรา

สิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญที่เสริมให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ อย่างเรื่อง “เมนูอาหาร” ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกหลานมักพูดเตือนผู้สงวัยให้ระวังอยู่เสมอ ดังนั้นในแต่ละมื้อเราจึงมีหน้าที่ปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพผู้สูงวัย หรือการเตือนผู้สูงวัยให้งดของหวาน ตัวเราเองก็ไม่ควรซื้อของหวานกลับบ้านให้ผู้สูงวัยรู้สึกอยากรับประทาน เป็นต้น เพราะการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ยังไม่สูงวัยก็ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงดี ไม่ต้องรอจนอายุมากขึ้นถึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการสร้างบรรยากาศในบ้านที่ต้องแสดงให้ผู้สูงวัยรับรู้ถึงความห่วงใยที่เรามีให้เขา เพื่อเรียกความมั่นใจและภูมิใจให้ผู้สูงวัยมีจิตใจที่แข็งแรง อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยมื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อใจ ลองชักชวนผู้สูงวัยมาร่วมปรุงอาหารไปพร้อมกัน และนั่งล้อมวงรับรับประทานพร้อมหน้ากัน เพียงแค่สร้างช่วงเวลาคุณภาพ ผ่านมื้อคุณภาพ โดยให้ทุกมื้อคือความสุขของครอบครัว เพียงเท่านี้ก็สามารถสื่อสารกับผู้สูงวัยได้ดีที่สุดแล้ว

แหล่งข้อมูล :

  • บทความเรื่อง “7 วิธีอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยอย่างมีความสุข” จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต (https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30377)
  • แนวทางการดูแลด้านสังคมจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิต จากกรมสุขภาพจิต (http://164.115.41.179/promote/sites/default/files/sites/default/files/sw/1.pdf)
  • บทสัมภาษณ์ ผศ.พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิดี มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “ยามเจ็บไข้และอาการป่วยที่ใจของผู้สูงอายุ กับ ผศ.พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล” จากเว็บไซต์ the101.world (https://www.the101.world/mental-health-in-eldery/)
  • บทความเรื่อง “#สื่อสารอย่างไรให้ Work !!!” จาก Facebook page Chersery Home International โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู(https://www.facebook.com/cherseryhomehospital/posts/1887679124667970/)

แชร์