เมื่อสังคมของลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นเปลี่ยนไปในยุค New normal มาดู 3 วิธีเลี้ยงลูกให้ความสัมพันธ์เหนียวแน่นให้ใจใกล้กันได้แม้ตัวอยู่ไกล | Family Happiness

Highlight
วิธีเลี้ยงลูกที่ช่วยสานสัมพันธ์ให้เหนียวแน่น โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น ที่แม้ตัวอยู่ห่างไกล แต่วิถีใหม่ทำให้ใกล้ชิด
- ใช้ “เทคโนโลยี” เชื่อมความห่วงใยถึงกันและกัน ผ่านการแชทในช่วงเวลาที่สะดวกทั้งกับเราและลูก
- ให้เขาได้แสดงความคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยเราทำหน้าที่ดูแลอยู่ห่างๆ
- เปลี่ยนวันหยุดให้เป็นโอกาสพิเศษที่ชวนเขามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
ต้องยอมรับว่าช่วง #StayHome ที่ผ่านมาก็มีมุมดีๆ เกิดขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการที่พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์กลับสู่ชีวิตปกติบนวิถีใหม่ พ่อแม่อย่างเราจะรักษาความสนิทสนมกับลูกวัยรุ่นอย่างไรให้เหนียวแน่นเหมือนเดิม วันนี้เรามีคำแนะนำง่ายๆ มาฝากพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นมือใหม่กัน
3 วิธีเลี้ยงลูก ช่วยสานสัมพันธ์ให้เหนียวแน่นกับลูกวัยรุ่น แม้ตัวอยู่ห่างไกล แต่วิถีใหม่ทำให้ใกล้ชิด

1. ใช้เทคโนโลยีเชื่อมความห่วงใย
เพราะการสื่อสารคือเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ทำให้เราและลูกสนิทกันมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อลูกต้องกลับไปสู่ชีวิตการเรียน ขณะที่พ่อแม่ก็กลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานปกติ แต่เรายังสามารถสื่อสารกับลูกได้เหมือนเดิม โดยใช้ “เทคโนโลยี” เชื่อมความห่วงใยถึงกันและกัน อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยแอปพลิเคชั่นการสื่อสารอย่าง LINE ที่สามารถตั้งกลุ่มครอบครัว ชวนลูกพูดคุยเมื่อต้องอยู่ห่างกัน
สิ่งสำคัญของการพูดคุยผ่านเทคโนโลยีคือควรเป็นการสื่อสารที่มีการโต้ตอบกันและกัน แต่ทั้งนี้ในช่วงแรกหากเป็นครอบครัวที่ไม่ค่อยเคยพูดคุยกัน อาจรู้สึกเคอะเขินเล็กน้อย จึงควรหาจังหวะการพูดคุยกันเป็นช่วงๆและค่อยเพิ่มการสนทนาให้มากขึ้นทีละน้อย นอกจากนี้ในบางวันที่ครอบครัวไม่ได้อยู่ร่วมกัน อาจนัดกับลูกๆ และสมาชิกในครอบครัวมา Video Call ร่วมกัน ซึ่งข้อดีของการเปิดกล้อง Video Call จะทำให้เราได้สังเกตสีหน้าและท่าทางของลูกว่าเขามีความเครียดหรือปัญหาอะไรหรือไม่
ส่วนสังคมออนไลน์อื่นๆ อย่าง Facebook, Twitter, Instagram หรือ TikTok สามารถลองเพิ่มลูกเป็นเพื่อนได้โดยปรึกษาลูกก่อน แต่ในกรณีที่ลูกไม่ยอมรับเราเป็นเพื่อน พ่อแม่อย่างเราก็ต้องยอมรับและเข้าใจ อย่าไปฝืนบังคับให้เขารับเราเป็นเพื่อนกันนะ

2. ปล่อยให้เขาใช้ชีวิตอิสระ แต่ไม่ลืมบอกต่อความรัก
ถึงเราจะสนิทกับลูกมากขึ้น แต่อย่าเผลอตัวเข้าไปวุ่นวายหรือเจ้ากี้เจ้าการกับเขาจนเกินควร เพราะต้องเข้าใจว่าลูกวัยรุ่นคือวัยที่ต้องการอิสระ ทั้งอิสระทางความคิดและการใช้ชีวิต วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการสร้างตัวตนและบุคลิกภาพของตนเองเพื่อเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง ในจุดนี้พ่อแม่ต้องยึดหลัก “ใกล้ชิด แต่ไม่วุ่นวาย” นั่นคือไม่เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการหรือตัดสินใจแทนลูก แต่ควรปล่อยให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ส่วนเราทำได้เพียงแต่เฝ้าดูอยู่ห่างๆ หากเขาเข้ามาขอคำปรึกษา เราจึงค่อยให้คำแนะนำที่เหมาะสมกลับไป
แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะพอดี ไม่วุ่นวายจนลูกรำคาญ แต่ยังทำให้เขารู้ว่าเราเป็นห่วง??
คำแนะนำง่ายๆ คือ การบอกผ่านความห่วงใยในมุมอื่นๆ เช่น เมื่อลูกต้องทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยจนต้องกลับหอดึก เราสามารถส่งข้อความให้เขาเดินทางกลับหออย่างระมัดระวัง หรือเมื่อลูกนัดเพื่อนไปเที่ยวต่างจังหวัด พ่อแม่อย่างเราก็ส่งความห่วงใยด้วยการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้เขาพกติดตัวไปด้วย เป็นต้น พ่อแม่รุ่นใหม่ควรเน้นการให้คำแนะนำและให้กำลังใจลูกวัยรุ่นมากกว่าการสั่งให้ทำสิ่งต่างๆ

3. คว้าโอกาสพิเศษช่วงหยุดยาว มาทำกิจกรรมกระชับความเข้าใจ
ในช่วงปีนี้มีการประกาศวันหยุดยาวในหลายช่วง เมื่อถึงวันหยุดยาวลองชวนลูกมาทำกิจกรรมด้วยกัน หรือ ลองชวนกันไปเปลี่ยนบรรยากาศเที่ยวต่างจังหวัดก็เป็นไอเดียที่ดี โดยพ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจกับลูกวัยรุ่นได้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนบทบาทให้ลูกเป็นผู้นำ เช่น ให้ลูกเป็นคนคิดทริปท่องเที่ยว หาสถานที่พัก และจุดแวะพัก ฯลฯ การลองเปลี่ยนบทบาทให้ลูกเป็นผู้นำนั้น จะทำให้เขาเข้าใจว่าบทบาทการเป็นผู้นำของพ่อแม่นั้นเป็นอย่างไร ขณะที่เราเองก็จะได้เข้าใจสถานะการเป็นผู้ตามของลูกด้วย ลดความคาดหวังที่ตารางการท่องเที่ยวจะเป็นไปตามนั้นอย่างเป๊ะๆ
โดยความถี่ที่เหมาะสมที่เรากับลูกควรทำกิจกรรมร่วมกันคืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ดังนั้นแม้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ลูกกลับบ้าน ก็สามารถชวนลูกมาสร้างช่วงเวลาดีๆ ร่วมกันได้ คุณภาพของเวลานั้นสำคัญกว่าปริมาณ โดยกุญแจสำคัญของการเลี้ยงลูกวัยรุ่นคือ “การสื่อสาร” แล้วจะมีช่วงเวลาไหนจะสุขไปกว่าช่วงเวลาที่มีร่วมกันในมื้ออาหาร ที่ได้เอ็นจอยกับเมนูอร่อย ควบคู่กับการได้สานสัมพันธ์ของทุกคนผ่านการพูดคุยและบรรยากาศสบายๆ บนโต๊ะอาหาร ลองใช้ช่วงเวลาดีๆ ระหว่างมื้อมาเชื่อมสุข เติมรสชาติแห่งรักให้ลูกและทุกคนในครอบครัวกัน
###
แหล่งที่มา
– บทความ “พบครอบครัวไทยสายใยห่างมากขึ้น” จากเว็บไซต์ สสส. (https://www.thaihealth.or.th/Content/22109-พบครอบครัวไทยสายใยห่างมากขึ้น.html)
– บทความ “ปิดเทอมปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” จากเว็บไซต์ สสส. (https://www.thaihealth.or.th/Content/51770-ปิดเทอมปลอดภัย%20ห่างไกล%20COVID-19.html)
– บทความ “#คุยกับลูกวัยรุ่น_ไม่ยากอย่างที่คิด ” จาก Facebook Page ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย (https://www.facebook.com/thaichildpsy/posts/516325581831407:0)
บทความ “คู่มือ ชีวิตวิถีใหม่” จากเว็บไซต์ สสส. (https://www.thaihealth.or.th/Books/643/คู่มือ%20ชีวิตวิถีใหม่.html)