แชร์

HIGHLIGHT…

  • เพราะการเอาชนะความเสียใจได้จะกลายเป็นวัคซีนที่ช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันในอนาคต 
  • การให้ปล่อยให้ลูกได้ร้องไห้เสียใจบ้างไม่ได้แปลว่าเขาอ่อนแอ แต่จะทำให้เขาได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่อัดอั้น โดยที่พ่อแม่ดูแลคอยให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ  
  • ส่งข้อความสั้น ๆ เป็นกำลังใจที่แสดงให้ลูกวัยรุ่นรู้ว่ายังคงมีพ่อแม่ที่รักเขาอยู่ตรงนี้ และเติมพลังรักด้วยอ้อมกอดที่จะช่วยเยียวยาแผลใจให้ลูกคลายความเศร้า
  • ชวนลูกทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสของลูกให้ออกจากกรอบความเสียใจ

“มีอะไรเล่าให้พ่อฟังได้นะลูก” กำลังใจแสนธรรมดา ที่มีค่ามากในวันที่ลูกอกหัก 

เพราะสำหรับลูกวัยรุ่น “ความรัก” เริ่มเป็นอีกเรื่องใหญ่ของชีวิตที่เขาให้ความสำคัญ หลายครั้งเมื่อรักไม่สมหวังจึงรู้สึกเจ็บปวด ทุกข์ใจ หมดหวัง

เมื่อลูกเสียใจจากอาการอกหักรักคุด ในฐานะพ่อแม่การอยู่เคียงข้าง คอยส่งกำลังใจดี ๆ ให้ลูกจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เขาผ่านความทุกข์ใจไปได้ แล้วพ่อแม่จะเติมพลังรักให้ลูกคลายเศร้าได้อย่างไร วันนี้มีคำแนะนำมาฝากกัน

3 วิธีให้กำลังใจเมื่อลูกอกหัก

ให้เวลาลูกได้เสียใจ ปล่อยจังหวะให้เขาได้ฟูมฟาย

ในช่วงแรกของความเสียใจ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ร้องไห้ ฟูมฟาย ไม่ว่าเขาจะขออยู่ในห้องคนเดียว ฟังเพลงเศร้าเสียงดังลั่นบ้าน เราก็ต้องเข้าใจในความรู้สึกของเขา และปล่อยให้เขาได้ฝึกจัดการกับอารมณ์เศร้าเสียใจของตัวเอง เพราะการเอาชนะความเสียใจได้ จะกลายเป็นเป็นวัคซีนที่ช่วยให้เขามีภูมิคุ้มกันในอนาคต เขาจะรับมือกับอารมณ์และความผิดหวังของตัวเองได้ดีมากขึ้น ที่สำคัญการให้เวลาลูกได้ร้องไห้เสียใจบ้าง ไม่ได้แปลว่าเขาอ่อนแอ แต่จะทำให้เขาได้ปลดปล่อยความรู้สึก และได้เรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองไปพร้อมกัน ในทางตรงข้าม อย่าพยายามเอาประสบการณ์ของพ่อแม่ไปตัดสิน อย่าพยายามบอกให้ลูกเข้มแข็งทั้งที่เรายังไม่เข้าใจ เพราะจะยิ่งทำให้ความรู้สึกของลูกวัยรุ่นแย่ลง  

แต่ทั้งนี้เราควรดูแลลูกอยู่ข้าง ๆ แต่มีระยะห่าง โดยที่ไม่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว และต้องมีกรอบระยะเวลาที่จะปล่อยให้ลูกเสียใจ โดยหลังจากหนึ่งสัปดาห์ของวันที่ลูกอกหัก ถ้าเขายังขังตัวเองอยู่คนเดียว ไม่ออกไปข้างนอก ไม่คุยกับเพื่อน ฯลฯ พ่อแม่ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ข้อความสั้น ๆ แถมด้วย “กอด” อบอุ่น ก็ช่วยเติมพลังรักให้เต็มหัวใจ

“มีอะไรเล่าให้พ่อฟังได้นะลูก”

“พ่อกับแม่รักลูกนะ”

“มาให้แม่กอดที”

ส่งข้อความสั้น ๆ ให้ลูกในวันที่เขาเจ็บปวด แม้ข้อความเหล่านี้จะไม่ได้แก้ปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ แต่ข้อความสั้น ๆ นี้จะเป็นกำลังใจสำคัญที่แสดงให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่ายังคงมีคนที่รักเขาอยู่ตรงนี้ เขายังมีคุณค่าสำหรับคนอื่นเสมอ อาจส่งเป็นข้อความผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเขียนบนโพสต์อิทติดในห้องนอนลูก ฯลฯ การส่งข้อความเป็นกำลังใจในรูปแบบนี้จะสร้างความประทับใจและความอบอุ่นใจให้ลูก โดยเฉพาะเมื่อเราหมั่นบอกรักลูกและย้ำถึงเรื่องที่คุณภูมิใจในตัวลูก จะเป็นการส่งพลังบวกให้เขากลับมามีความเชื่อมั่นว่ายังคงมีคนที่รักลูกอยู่ตรงนี้เสมอ 

เติมพลังรักให้ลูกผ่านข้อความแล้ว การส่งกำลังใจผ่านสัมผัสก็เป็นอีกหนึ่งคำแนะนำที่ได้ผลดี เพราะอ้อมกอดของพ่อแม่อบอุ่นเสมอ และบางครั้งการกอดยังเป็นยาวิเศษที่ช่วยเยียวยาแผลใจให้ลูกคลายเศร้าได้อีกด้วย

เปลี่ยนจุดโฟกัส ทำลายกรอบความเสียใจด้วยกิจกรรม

เมื่อความเสียใจของลูกไม่จางหาย อีกหนึ่งคำแนะนำคือดึงความสนใจของลูก ผ่านการชวนลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ชวนลูกออกเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ชวนเล่นกีฬาแอดเวนเจอร์ ฯลฯ การชวนลูกทำกิจกรรมจะสามารถดึงความสนใจของลูกและเปลี่ยนจุดโฟกัสของลูกให้ออกจากกรอบความเสียใจ การทำกิจกรรมบางอย่างยังอาจช่วยให้ความมั่นใจในตัวเองของวัยรุ่นกลับมาได้อีกด้วย 

หรือจะลองชวนลูกมาทำ Kitchen Therapy ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของลูกให้ดีขึ้นได้ด้วยการชวนลูกเข้าครัว ตั้งแต่ให้ลูกช่วยเตรียมวัตถุดิบ ลองปรุงอาหารด้วยตัวเอง ตลอดจนนั่งรับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้าในบรรยากาศสบาย ๆ เพียงแค่สร้างช่วงเวลาคุณภาพ ผ่านมื้อคุณภาพ โดยให้ทุกมื้อคือความสุขของครอบครัว เพียงเท่านี้ก็ช่วยเติมพลังรักให้ลูกคลายความเสียใจจากอาการอกหักได้แล้ว

แหล่งที่มา :

  • บทความเรื่อง “รับมืออย่างไรเมื่อลูกอกหัก” จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต (https://www.thaihealth.or.th/Content/45271-รับมืออย่างไรเมื่อลูกอกหัก.html)
  • บทความเรื่อง “เมื่อลูก(วัยรุ่น)อกหัก” จากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ (https://www.moe.go.th/เมื่อลูกวัยรุ่นอกหัก)
  • บทความเรื่อง “เตรียมพร้อมรับมือเมื่อลูกรักอกหัก” จากเว็บไซต์ Health and Trend (https://www.healthandtrend.com/parental/family/prepare-to-handle-when-your-kids-or-teen-broken-heart)

แชร์